นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

วัดเขาถ้ำกุญชร

Buddhist Calendar ปฏิทินปักขคณนา

ปฏิทินปักขคณนา พ.ศ.๒๕๕๗



จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ปักขคณนา หรือ ปักษคณนา เป็นปฏิทินจันทรคติไทยประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้วิธีการคำนวณหาวันขึ้นแรมให้แม่นยำตรงตามการโคจรของดวงจันทร์เป็นสำคัญ โดยไม่ได้นับวันตามการขึ้นตกของดวงอาทิตย์ แต่ใช้วิธีการนับโดยการยึดหาวันเพ็ญ และ วันดับ แทน สำหรับการคำนวณวันที่จะใช้กระดานปักขคณนา ในการช่วยคำนวณ ซึ่งจะซับซ้อนกว่าการนับปกติ สำหรับระบบปฏิทินจันทรคติแบบปักขคณนานี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงค้นคิดวิธีคำนวณขึ้นใช้ในพระสงฆ์คณะธรรมยุติ เพื่อใช้ในการทำศาสนกิจต่อไป


ที่มาและความหมายของคำว่า ปักขคณนา

ปักขคณนา เป็นคำที่เกิดคำว่า ปักขะ ซึ่งเป็นภาษาบาลี ที่แปลว่า ปักษ์หรือ รอบครึ่งเดือน ในความมหมายอีกแง่หนึ่ง หมายถึง ปีกข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งก็คือ ข้าง ในแง่ ข้างขึ้น หรือข้างแรม มารวมกับคำว่า คณนา ซึ่งแปลว่า การคำนวณ ดังนั้น ปักขคณนา จึงแปลว่า การนับปักษ์ หรือ วิธีคำนวณดิถีตามปักษ์ ใช้กำหนดวันธรรมสวนะของพระสงฆ์คณะธรรมยุติ


ปฏิทินปักขคณนา เป็นปฏิทินจันทรคติที่เป็นรอบครึ่งเดือน อุปมาได้กับการบอก เวลา แบบ AM-PM (ไม่ใช่แบบ 24น.) มีใช้ในหมู่พระธรรมยุตติกนิกาย เป็นคนละแบบกับปฏิทินหลวง ซึ่งเป็นรอบ 1 เดือน


ระบบปฏิทินปักขคณนานี้เป็นระบบปฏิทิน จันทรคติ ที่มีความเที่ยงตรง ต่อปรากฏการณ์บนท้องฟ้ากว่าปฏิทินหลวง ด้วยเหตุที่เป็นรอบครึ่งเดือน อีกทั้งสามารถเลือกทดวัน ได้ทุกเดือน มีข้อน่าสังเกตที่สำคัญมากประการหนึ่ง คือ ตัวเลขในระบบปฏิทินปักขคณนา โดยเฉลี่ยแล้ว มีค่าน้อยกว่า ตัวเลขค่ำในปฏิทินหลวงอยู่ 0.5 ในช่วงข้างขึ้น และน้อยกว่า 0.265 ในช่วงข้างแรม ดังเช่น วันเพ็ญในปฏิทินหลวงมีค่าเฉลี่ยเป็น 15.265 ค่ำ หรือ ขึ้น 15 ค่ำ ค่อนข้างไปทางแรม 1 ค่ำ ขณะที่วันเพ็ญในปฏิทินปักขคณนา มีค่าเฉลี่ยเป็น ปักข์ 14.765 หรือที่ขึ้น 15 ค่ำ ค่อนข้างมาทางขึ้น 14 ค่ำ


ลักษณะการคำนวณข้างขึ้นข้างแรมแบบปักขคณนาวิธี

ตามพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "วิธีปักขคณนา" จากหนังสือ "ความรู้เรื่องปักขคณนา", มหามกุฏราชวิทยาลัย, หน้า 42 (ตัวสะกดรักษาตามต้นฉบับเดิม) ได้กล่าวถึงที่มาและวิธีการคำนวณไว้ว่า


จะว่าด้วยกาลนับปักข์ตามมัชฌิมะคติให้ปริสัช ที่ไม่รู้ภาษามคธได้ เข้าใจ ก็คำที่เรียกว่าปักข์นั้น คือแปลว่าปีกแห่งเดือน คือนับแต่พระจันทร์เพ็ญจนดับ ดับจนเพ็ญเรียกว่าปักข์หนึ่งๆ ก็ในปักข์หนึ่งนั้นบางทีมีวัน 14 15 ก็ในปักข์ 15 นั้น เรียกว่า ปักข์ถ้วน ในปักข์ 14 นั้น เรียกว่า ปักข์ขาด ก็ปักข์ถ้วนสาม ปักข์ขาดหนึ่งเรียกว่า จุละวัคค์ ปักข์ถ้วนสี่ ปักข์ขาดหนึ่ง เรียกว่า มหาวัคค์ จุละวัคค์สองที มหาวัคค์ทีหนึ่ง เรียกว่า จุลละสะมุหะ จุละวัคค์สามที มหาวัคค์ทีหนึ่ง เรียกว่ามหาสะมุหะ ในชั้นนี้ใช้มหาสะมุหะเป็นพื้น มหาสมุหะหกครั้ง จุลสะมุหะทีหนึ่ง เรียกมหาพยุหะ มหาสะมุหะห้าครั้ง จุละสะมุหะทีหนึ่ง เรียกว่า จุละพยุหะ ในชั้นนี้ใช้จุละพยุหะเป็นพื้น ฯ จุละพยุหะเก้าที มหาพยุหะทีหนึ่ง เรียก จุลสัมพยุหะ จุลพยุหะสิบที มหาพยุหะทีหนึ่ง เรียกว่า มหาสัมพยุหะ ในชั้นนี้ใช้มหาสัมพยุหะเป็นพื้น มหาสัมพยุหะมาได้สิบเจ็ดที จุละสัมพยุหะมาทีหนึ่ง เมื่อเป็นไปได้เท่านี้ คะติพระ 1, 2 ว่าจะได้เป็นเหมือน โดยมัชฌิมะคะติครั้งหนึ่ง ฯ


วัตถุประสงค์ของปักขคณนาก็เพื่อหาวันจันทร์เพ็ญ หรือ วันจันทร์ดับ และ วันจันทร์ครึ่งดวง ให้ใกล้เคียงกับปรากฏการณ์บนท้องฟ้า ซึ่งแต่ละปักข์จะมี 14-15 วัน ต้องตรวจดูเป็นปักษ์ๆ ไป สำหรับปักข์ที่มี 15 วัน ใช้คำ ปักษ์ถ้วน หรือ ปักษ์เต็ม และ สำหรับปักข์ที่มี 14 วัน ใช้คำว่า ปักษ์ขาด